ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของประชาชน อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ชญานนท์ สอดสี*, วารุณี สุดตา*, อาภาพร กฤษณพันธุ์*
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของประชาชนอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อการป้องกันโรคมาเป็นกรอบในการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนกลุ่มอายุ 15-59 ปี อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 215 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ความแปรปรวน การทดสอบสหสัมพันธ์และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 68.52) อายุเฉลี่ย 41.72 ปี (S.D. = 10.28) มีการล้างมือเพื่อป้องกันโรค COVID-19 อยู่ในระดับดี ความรู้เรื่องการล้างมือเพื่อป้องกันโรคอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 98.95) การรับรู้ความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 99.06) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 98.60) ความคาดหวังถึงผลของการล้างมือเพื่อป้องกันโรคอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 97.67) ความคาดหวังความสามารถของตนเองในการป้องกันโรคอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 97.67) ปัจจัยที่ความสัมพันธ์กับการล้างมือเพื่อป้องกันโรค COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ เพศ (p<0.005) การได้รับความรู้เรื่องการล้างมือจากอินเทอร์เน็ต (p<0.0001) โทรทัศน์ (p<0.0001) หนังสือพิมพ์ (p<0.005) เสียงตามสาย (p<0.005) บุคลากรสาธารณสุข (p<0.005) ผลการศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคที่เหมาะสม
คำสำคัญ: การล้างมือ, การป้องกันโรค, โรค COVID-19
Keywords: handwashing, disease prevention, COVID-19
*วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 510 ครั้ง