ประสิทธิผลการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลัน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
ขนิษฐิญา เล็กสมบูรณ์*
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลัน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงคะแนนความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันก่อนเข้ารับการฟื้นฟูและติดตามหลังการเข้ารับการฟื้นฟูจนครบ 6 เดือนของกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 147 คน ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกหลอดเลือดสมอง โดยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Komogorov- Smirnov Repeated Measures ANOVA ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย ร้อยละ 67.76 อายุอยู่ในช่วง 61-70 ปี ร้อยละ 28.6 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 43.5 โดยโรคประจำตัวที่พบมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 39.47 เมื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ย Bathel ADL index ในเดือนที่ 1 เท่ากับ 71.22 ± 34.42 เดือนที่ 2 เท่ากับ 76.26 ± 32.76 เดือนที่ 3เท่ากับ 78.37 ± 31.42 เดือนที่ 4 เท่ากับ 79.90 ± 30.32 เดือนที่ 5 เท่ากับ 80.51 ± 30.31 และเดือนที่ 6 เท่ากับ 80.88 ± 30.87 ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value <0.001) ในทุกเดือน และเมื่อพิจารณาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการบำบัดรักษา พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 23.03 ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุด คือ ข้อติดหรือข้อหลุด ร้อยละ 14.29 ดังนั้นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลันของคลินิกหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลกมลาไสย สามารถพัฒนาคะแนนความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันได้
คำสำคัญ: ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลัน, การดูแลระยะกึ่งเฉียบพลัน, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, ความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน
Keywords: Subacute stroke, Intermediate care, Rehabilitation, Barthel ADL index
* โรงพยาบาลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 289 ครั้ง