7. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการใช้พืชกระท่อมเพื่อสันทนาการของนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี
สุเมธ นิยกิจ*, อุษาวดี สุตะภักดิ์**
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการใช้พืชกระท่อม เพื่อการสันทนาการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ทำการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิให้ได้ 6 โรงเรียน กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 720 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม พ.ศ. 2565 และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ สถิติการทดสอบไคสแควร์ การทดสอบที และสถิติวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยใช้พืชกระท่อมและเลิกใช้แล้ว 117 คน (ร้อยละ 16.3) และปัจจุบันยังใช้อยู่ 51 คน (ร้อยละ 7.0) โดยรูปแบบที่ใช้เป็นน้ำต้มกระท่อม (ร้อยละ 77.9) และน้ำกระท่อมผสมกับสารอื่น (ร้อยละ 29.2) ปัจจัยทำนายการใช้กระท่อมเพื่อสันทนาการ ประกอบด้วยปัจจัยนำ ได้แก่ ระดับทัศนคติต่อพืชกระท่อมที่ไม่เหมาะสม (ORadj=15.38, 95%CI=3.36-70.36, p-value<0.001), การใช้ยาแก้ไอน้ำดำเพื่อการเสพติด (ORadj=14.51, 95%CI=2.94-71.58, p-value=0.001) และการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า (ORadj=6.42, 95%CI=2.89-14.23, p-value<0.001) และปัจจัยเสริม ได้แก่ การเคยเห็นพี่น้องใช้กระท่อม (ORadj=2.92, 95%CI=1.38-6.19, p-value=0.005), การเคยเห็นรุ่นพี่นอกโรงเรียนใช้กระท่อม (ORadj=5.82, 95%CI=2.04-16.62, p-value=0.001)
คำสำคัญ: พืชกระท่อม, การใช้เพื่อสันทนาการ, ปัจจัยนำ, ปัจจัยเสริม, นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
Keywords: Kratom, recreational use, predisposing factor, reinforcing factor, secondary school student
* โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ, อุบลราชธานี
** คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ, เชียงใหม่
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 899 ครั้ง