การตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด,ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย, เอสเชอริเชีย โคไล และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ในตู้น้ำดื่ม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดสกลนคร
วิธิต งิ้วพรหม*, รัชฎาภรณ์ อึ้งเจริญ*, รพีพรรณ ยงยอด*
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด (Total coliform bacteria), ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (Faecal coliform bacteria) โดยวิธี Most Probable Number ตามวิธีมาตรฐาน Standard methods for examination of water and wastewater และการตรวจหาเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ใช้เทคนิค Streak plate และยืนยันผลด้วย Polymerase chain reaction และศึกษาการสุขาภิบาลตู้น้ำดื่ม โดยใช้แบบสำรวจการสุขาภิบาลตู้น้ำดื่ม ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 31 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ และสถิติเชิงอนุมาน Chi-square test
ผลการศึกษาพบว่า น้ำดื่มจากถังน้ำ 31 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด 23 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 74.19, ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 22.58, เอสเชอริเชีย โคไล 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 12.90 และน้ำดื่มจากก๊อกน้ำ 31 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 77.42, ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 22.58 และเอสเชอริเชีย โคไล 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 6.45 ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกปี พ.ศ. 2560 และไม่พบการปนเปื้อนเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ด้านการสุขาภิบาลตู้น้ำดื่มทั้ง 31 แห่ง พบว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไม่มีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ไม่มีการทดสอบคุณภาพน้ำด้วยชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียอย่างง่าย (อ.11) หน่วยงานควรมีการควบคุมและติดตามคุณภาพน้ำ และสุขาภิบาล เพื่อให้มีความปลอดภัยกับผู้บริโภค
คำสำคัญ: ตู้น้ำดื่ม, สุขาภิบาล, การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์
Keywords: Drinking water dispenser, Sanitation, Microbial contamination
*คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 147 ครั้ง