ผลการเฝ้าระวัง ควบคุม ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและการจัดบริการช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น
บัวบุญ อุดมทรัพย์*, สมพร ครุธวงษ์**
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการเฝ้าระวัง ควบคุม ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและการจัดบริการช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น มีขั้นตอนดำเนินการ 3 ขั้นตอน 1. จัดกระบวนการ Appreciation Influence Control (AIC) กำหนดแผนงานการแก้ไขปัญหา มีกลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกิจกรรม 21 คน 2. จัดกิจกรรม เฝ้าระวัง ควบคุมความเสี่ยงและจัดช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองตามแผนงานที่ชุมชนกำหนด ระยะเวลา 6 เดือน มีกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร่วมกิจกรรม 223 คน 3. ประเมินผลการดำเนินงาน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามก่อนและหลังดำเนินการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์ด้วยสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ใช้สถิติ Paired t-test
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 62.85 ปี ( x ̅ =62.85, S.D.=11.89) การศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 44.84 หลังดำเนินการมีความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองระดับสูง คะแนนเฉลี่ย 13.57 (x ̅ =13.57, S.D.=2.33) มีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พฤติกรรมการออกกำลังกาย บริโภคอาหาร ควบคุมความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาควบคุมความดันโลหิตสูง โดยรวมอยู่ในระดับสูง คะแนนเฉลี่ย 3.75 (x ̅ =3.75 , S.D.=0.22) มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการจัดช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองระดับตำบล กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองระดับ ปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 13.28 (x ̅ =13.28, S.D.=1.81) มีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การทดสอบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลพบว่าสามารถนำส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ค่าเฉลี่ย 39.45 นาที
คำสำคัญ: เฝ้าระวัง; ควบคุม; ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง; ช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง
Keywords: Surveillance; Control; Stroke; Stroke Risk Factors; Stroke Fast Track
* สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น, **โรงพยาบาลเวียงเก่า
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 231 ครั้ง