การศึกษาการเข้าถึงบริการการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลาที่กำหนดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่
พัชรินทร์ อุสาห์*, วุธิพงศ์ ภักดีกุล*, วรินท์มาศ เกษทองมา*
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ และเปรียบเทียบความแตกต่างในการเข้าถึงบริการการรักษาด้วยรังสีรักษา ภายในระยะเวลาที่กำหนด (≤42 วัน) เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาศึกษาแบบย้อนหลัง ประชากร คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ ที่เข้ารับการรักษาด้วยรังสีรักษา ในโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ปี พ.ศ. 2561-2564 จำนวน 1,146 ราย โดยรวบรวมข้อมูลจากโปรแกรม Thai Cancer Base และ โปรแกรม Thai HIS ของโรงพยาบาล วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบ สเปียร์แมน และสถิติทดสอบที
จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 99.6 อายุเฉลี่ย 52 ปี (S.D.=10.6) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีสถานภาพ คู่ หม้าย หย่า ร้อยละ 87.6 เป็นมะเร็งเต้านมเป็นระยะที่ 3 ร้อยละ 42.3 และการเข้าถึงบริการการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลาที่กำหนด ร้อยละ 92.5 โดยมีระยะเวลารอคอยเฉลี่ย 26.5 วัน (S.D.=17.9) ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงบริการการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ระยะโรคมะเร็งเต้านม (p<0.01) เมื่อนำข้อมูลระยะเวลาการเข้าถึงบริการไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน พบว่า ระยะเวลาในการเข้าถึงบริการการรักษาด้วยรังสีรักษาดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)
คำสำคัญ: ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม; การรักษาด้วยรังสีรักษา; การเข้าถึงบริการการรักษา; ระยะโรคมะเร็งเต้านม
Keywords: Breast cancer; Radiation therapy; Access to care; The stage of breast cancer
*คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 315 ครั้ง