ต้นทุนการให้บริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เครือข่ายบริการ โรงพยาบาลภูกระดึง ปี 2551
เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ* ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์** อลิสา ศรีอรรคจันทร์***
บทคัดย่อ
ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 และสนับสนุนงบประมาณแบบเหมาจ่ายต่อประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี การวิเคราะห์ต้นทุนการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพของหน่วยบริการ เครือข่ายโรงพยาบาลภูกระดึงปี 2551 เป็นข้อมูลสำคัญในการฉายภาพสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณที่ควรจะเป็นเพื่อจัดบริการให้ประชาชนอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ ซึ่งใช้วิธีการประยุกต์การวิเคราะห์และกระจายต้นทุนทางตรง ข้อค้นพบสำคัญคือ ต้นทุนของรวมเท่ากับ 2,113.59 บาท ต่อประชากร ต่ำกว่าที่ได้รับจัดสรรจาก สปสช.ร้อยละ 3.7 โดยมีต้นทุนผู้ป่วยใน 848.95 บาท (ร้อยละ 40.17) ต้นทุนผู้ป่วยนอก 669.66 บาท (ร้อยละ 31.68) และต้นทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 594.98 บาท (ร้อยละ 28.15) สัดส่วนต้นทุนผู้ป่วยใน คิดเป็น 2 ใน 3 ของต้นทุนรวม และต้นทุนผู้ป่วยในต่อ 1 น้ำหนักสัมพัทธ์สูงกว่าที่ได้รับจัดสรรจาก สปสช. เนื่องจากเป็นการรักษาโรคที่ไม่ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในส่วนใหญ่เป็นค่ายาและเวชภัณฑ์
จึงควรมีการนำข้อมูลเหล่านี้ ไปทบทวนสัดส่วนการจัดสรรงบเหมาจ่ายต่อประชากรให้กับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ บริหารจัดการเชิงรุกเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพิจารณาความเหมาะสมในการรับเป็นผู้ป่วยใน เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลเพื่อลดค่าใช้จ่ายการส่งต่อ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร กำหนดสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อบรรเทาภาระของหน่วยบริการที่รับภาระดังกล่าวด้วยตนเอง
คำสำคัญ (keywords): ต้นทุนการจัดบริการ, ระบบหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายหน่วยบริการ
Cost analysis, Universal Health Coverage, Health Provider Network
* โรงพยาบาลภูกระดึง จังหวัดเลย
** ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
** สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดอุดรธานี
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 548 ครั้ง
การศึกษาการรับรู้และความคาดหวังขององค์การปกครอง
ส่วนท้องถิ่นต่อการพัฒนาบริการปฐมภูมิของอำเภอนครไทย
จังหวัดพิษณุโลก
พรเทพ โชติชัยสุวัฒน* พรหมพิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง** สุพิศ โคตะมาศ***
บทคัดย่อ
การพัฒนาบริการปฐมภูมิของประเทศไทยที่ผ่านมายังขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ในบริบทอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ยังขาดการศึกษาข้อมูลของท้องถิ่น ในการรับรู้ระบบสุขภาพ และความคาดหวังกับการพัฒนาบริการปฐมภูมิ ดังนั้น จึงได้ดำเนินการศึกษาการพัฒนาบริการ ปฐมภูมิเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบ In-depth Interview นายยกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในองค์กรปกครองท้องถิ่น 11 แห่ง พื้นที่อำเภอนครไทย เก็บข้อมูลโดยการจดบันทึก และถอดเทปบันทึกเสียง ใช้สถิติวิเคราะห์ ร้อยละ ข้อมูลเชิงปริมาณ และ ตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพโดย วิธี triangulation และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ Content analysis
ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้าใจนิยามสุขภาพ ในเรื่องกาย และจิตใจ แต่ไม่ทราบในมิติสังคม และปัญญา ด้านความเห็นไม่เห็นด้วยกับการมีต้นสังกัดตามสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้านการพัฒนาชุมชนโดยการก่อตั้งกลุ่มต่างๆ ได้ผลในเชิงเศรษฐกิจ และสวัสดิการ สมาชิกได้รับผลประโยชน์ ในส่วนชมรมสุขภาพมีกิจกรรมที่ไม่ต่อเนื่อง การเข้าถึงบริการ ยังขาดเรื่องการส่งต่อส่งกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และมีความสนใจในปัญหาสุขภาพเฉพาะเรื่องในแต่ละตำบลที่มีความหลากหลาย มีความคาดหวังต่อโรงพยาบาลสุขภาพตำบล ด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก โดยรวม ควรมีการเพิ่มการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาสุขภาพระหว่างทีมสุขภาพภาครัฐกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาระบบสุขภาพของอำเภอ รวมถึงภาคภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชน
คำสำคัญ : บริการปฐมภูมิ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, การรับรู้, ความคาดหวัง
Key words :primary health service, local government, perception, expectation
* โรงพยาบาลนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
** ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
*** สำนักงานสาธารณสุข อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 743 ครั้ง