บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกของผู้ที่สูบบุหรี่ ความชุกผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภู วิธีการศึกษา ทำการศึกษาในประชากร ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ 406 ตัวอย่าง ระหว่าง เดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนานำเสนอในรูป ความถี่ ร้อยละ มัธยฐาน และพิสัยควอไทล์ ผลการศึกษา พบว่าความชุกของการสูบบุหรี่ของประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภู ร้อยละ 46.05 (95%CI; 41.15 – 51.05) โดยเพศชาย สูบบุหรี่ ร้อยละ 64.10 เพศหญิงสูบบุหรี่ ร้อยละ 5.60 อายุ 40–49 ปี สูบบุหรี่ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ยังสูบบุหรี่มีถึงร้อยละ 43.30 โดยผู้ป่วยหอบหืดสูบบุหรี่มากที่สุด รองลงมา คือผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ตามลำดับ การได้รับควันบุหรี่มือสองมีสูงถึงร้อยละ 74.60 ( 95% CI; 70.05 – 78.73) ในจำนวนนี้ร้อยละ 68.6 เป็นผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ในกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ ค่ามัธยฐานของอายุที่เริ่มสูบเป็น 16.0 ปี (พิสัยควอไทล์ 5.0) ส่วนใหญ่สูบบุหรี่ทุกวัน (ร้อยละ 87.70) ค่ามัธยฐานของจำนวนมวนที่สูบต่อวัน เป็น 10.0 มวน (พิสัยควอไทล์ 9.0) ส่วนมากสูบบุหรี่ชนิดยาเส้นมวนเอง (ร้อยละ 51.90) บริเวณที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่สูบอยู่ในบริเวณนอกตัวบ้าน (ร้อยละ 71.10) ผู้ที่คิดว่าตัวเองติดบุหรี่มีร้อยละ50.80 ส่วนใหญ่ไม่มีแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ (ร้อยละ 72.70) โดยสรุป กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบถึงสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ และเห็นว่า ควรรณรงค์การไม่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และเพิ่มมาตรการการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
คำสำคัญ : ความชุก พฤติกรรมการสูบบุหรี่
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 5543 ครั้ง