บทคัดย่อ
นิพนธ์ต้นฉบับ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลอง (quasi experimental) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มารับบริการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาล ท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 70 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 35 คน และกลุ่มทดลอง 35 คน เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ กิจกรรมแทรกแซง คือ แผนการสร้างเสริมพลังอำนาจ แบบสอบถามประเมินตนเอง, แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงวิเคราะห์ t-test ผลการทดลอง พบว่าพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยความดันโลหิตหลังการได้รับแผนการสร้างเสริมพลังอำนาจในด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเองมีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาด้านการมีปฏิสัมพันธ์ และกิจกรรมโภชนาการ และเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยความดันโลหิตก่อนและหลังทดลอง พบว่า พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยความดันโลหิตหลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และหลังการทดลองกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมการเสริมสร้างพลังอำนาจมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงกว่าในกลุ่มปกติ ในทุกด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) การเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกกลุ่มนับได้ว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ยอมรับว่าสามารถทำได้ แผนการเสริมสร้างพลังอำนาจในการดูแลตนเองมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปเป็นแนวทางในการจัดระบบบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
คำสำคัญ : ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การเสริมพลังอำนาจ พฤติกรรมการดูแลตนเอง
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 3757 ครั้ง