บทคัดย่อ
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นแนวทางการรักษาโรคไตเรื้อรังที่พบได้มากในวัยสูงอายุ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แก่ผู้ป่วย ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียด ความทุกข์ทรมาน การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประมวลองค์ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของพยาบาลต่อการจัดการอาการในผู้สูงอายุโรคไตเรื้อรังที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมจากฐานข้อมูล Pub Med, CINAHL, Science Direct, Thai LIS และฐานข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จำนวน 84 เรื่อง ผลการทบทวนพบว่า อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในวัยผู้สูงอายุที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีทั้งด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม และมีความรุนแรงของอาการมากกว่าช่วงวัยอื่นเนื่องจากความเสื่อมสภาพของร่างกายและภาวะการมีโรคร่วม
การจัดการกับอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในบทบาทของพยาบาล ประกอบด้วย 1) การให้ความรู้ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการและการจัดการอาการที่เกิดขึ้นทั้งข้อมูลจากบุคคลากรทางการแพทย์และจากผู้ป่วยที่ผ่านประสบการณ์การจัดการอาการแทรกซ้อนได้ดี และ 2) การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมโดยเฉพาะครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการให้การดูแล
อย่างไรก็ดี การให้ข้อมูลผู้สูงอายุเกี่ยวกับอาการและการจัดการอาการที่เกิดขึ้นจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น ควรให้ข้อมูลตั้งแต่ระยะก่อนการได้รับการฟอกเลือดเพื่อให้ผู้สูงอายุผ่อนคลายความวิตกกังวล ความกลัวการฟอกเลือด รวมถึงเพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและจัดการกับอาการแทรกซ้อนลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่สำคัญให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคและอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้
คำสำคัญ: การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, บทบาทพยาบาล
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 635 ครั้ง