มนูญ ศูนย์สิทธิ์*, สุวัฒนา เกิดม่วง**,
ประพันธ์ ใยบุญมี***, ชัญญาภรณ์ โชคทวีวัฒน์*
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรค ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการวิจัยแบบผสานวิธีพหุระยะ แบ่งเป็น 4 ระยะ ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2560-2563 โดยการสร้างรูปแบบเพื่อเป็นต้นฉบับ แล้วนำไปใช้กับสภาพจริงในพื้นที่ 10 อำเภอ จังหวัดสุพรรณบุรี ทำการประเมินความพึงพอใจก่อนและหลังการใช้รูปแบบจากผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรค 173 คน และสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยวัณโรค 120 คน และกลุ่มเสี่ยงวัณโรค ที่ได้รับการคัดกรองเชิงรุก 346 คน ในอำเภอสองพี่น้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา สถิติเชิงพรรณนา และสถิติ Paired t-test
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรคที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสม หลังการใช้รูปแบบ พบว่า 1) อัตราการเปลี่ยนของเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่และกลับเป็นซ้ำลดลงจาก 72.3 เป็น 69.4 ต่อแสนประชากร 2) อัตราความสำเร็จการรักษาผู้ป่วย วัณโรครายใหม่ และกลับเป็นซ้ำลดลงจาก 85.4 เป็น 82.7 ต่อแสนประชากร 3) ความครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ และกลับเป็นซ้ำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55.7 เป็น 66.4 4) ความครอบคลุมการคัดกรองในประชาชนกลุ่มเสี่ยงด้วยการเอกซเรย์ปอดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.4 เป็น 76.0 และ 5) ความพึงพอใจต่อการพัฒนารูปแบบของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงวัณโรค พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าก่อนการใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)
คำสำคัญ: การพัฒนารูปแบบ, งานป้องกันและควบคุมวัณโรค, วัณโรค
*สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี
**วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี
***สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสองพี่น้อง
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 483 ครั้ง