การพัฒนาเต้านมจำลอง เพื่อสอนการบีบเก็บน้ำนมด้วยมือ
ของมารดาหลังคลอด
จิราภรณ์ นันท์ชัย*, นฏกร อิตุพร*, เทียมศร ทองสวัสดิ์*
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนาเต้านมจำลองสำหรับสอนการบีบเก็บน้ำนมแก่มารดาหลังคลอด และประเมินคุณภาพเต้านมจำลอง ดำเนินการวิจัยเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การออกแบบและพัฒนาเต้านมจำลอง และส่วนที่ 2 ประเมินคุณภาพเต้านมจำลอง กลุ่มตัวอย่าง คือ มารดาหลังคลอด 24-72 ชั่วโมง ในหน่วยหลังคลอด จังหวัดเชียงราย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง เดือนมีนาคม 2562 จำนวน 34 ราย เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบประเมินคุณภาพเต้านมจำลอง ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 1 ทดสอบความเชื่อมั่นของแบบประเมินได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.92 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
ผลการวิจัย พบว่า 1) ได้เต้านมจำลอง ประกอบด้วย 2 ชิ้น คือ ชิ้นที่ 1 เต้านมจำลอง กายวิภาคทั้งภายนอกและภายในเต้านม และชิ้นที่ 2 เป็นเต้านมจำลองยางพารา มีรูบริเวณหัวนม สวมทับกับขวดนมที่หุ้มด้วยผ้ายัดไส้ใยสังเคราะห์และมียางยืดรัดบริเวณคอขวดนม เพื่อให้มีความนุ่มและสามารถบีบน้ำนมได้เสมือนเต้านมจริง 2) คุณภาพเต้านมจำลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x ̅ = 4.45, S.D. = 0.45) และคุณภาพรายด้านของเต้านมจำลองเมื่อใช้ในสถานการณ์จริงมีผลเช่นเดียวกันกับในขั้นตอนการทดลองใช้
คำสำคัญ: เต้านมจำลอง, การบีบเก็บน้ำนมด้วยมือ, มารดาหลังคลอด
Keywords: Breast model, Manual breast milk expression, Maternal postpartum
* คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 420 ครั้ง