ความเสี่ยงของการเกิดอาการทางจิตจากการเสพสารเสพติดในประเทศไทย
พูนรัตน์ ลียติกุล*
บทคัดย่อ
การใช้สารเสพติดทำให้เกิดภาระโรคหลายโรคทางร่างกายและจิตใจของผู้เสพ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดอาการทางจิตจากการเสพสารเสพติดชนิดต่าง ๆ เป็นการศึกษาแบบ case control study กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เสพยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกยาเสพติด/คลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลของรัฐอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอนแบบจำแนกชั้นภูมิสุ่มกระจุก จำนวน 2,000 คน กลุ่มตัวอย่างได้รับการสัมภาษณ์และสังเกตโดยผู้ช่วยวิจัยที่ได้รับการฝึกฝนร่วมกับนักวิจัยรวมทั้งการซักประวัติตรวจร่างกายจากบุคลากรทางการแพทย์ วิเคราะห์ทางสถิติด้วยไคสแควร์และสมการถดถอยโลจิสติกส์แบบพหุ
กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย ร้อยละ 94 ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 24 ปี สถานภาพสมรสโสดร้อยละ 56 สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่าร้อยละ 70 ไม่มีอาชีพร้อยละ 27 ปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการทางจิตเวชประกอบด้วย 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ สถานภาพสมรส (โสด) และไม่มีอาชีพ (ว่างงาน ทำงานบ้าน ไม่มีรายได้) 2) ปัจจัยด้านตัวยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า (เมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด) ไอซ์ (เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด) กัญชา เฮโรอีน สารระเหย ยาอี เคตามีน ยารักษาโรคผิดแบบแผน และเสพยาเสพติดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ 3) ระยะเวลาที่ใช้ยาเสพติด (นานมากกว่า 10 ปี) และ 4) เสพยาเสพติดเป็นประจำ (เสพมากกว่า 20 วันใน 1 เดือน) และเสพยาเสพติดบ่อย ๆ (มากกว่าวันละครั้ง) ปัจจัยเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะมีอาการทางจิตเวชเพิ่มขึ้น 1-7 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
คำสำคัญ: สารเสพติด, อาการทางจิต, ความเสี่ยง, ประเทศไทย
Keywords: Substance abuse, Psychotic symptom, Causal factors, Thailand
*คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จังหวัดนครราชสีมา
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 319 ครั้ง