ประสิทธิผลของโปรแกรมการดูแลสุขภาพช่องปากหลังใส่ฟันเทียมพระราชทานของประชาชนอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
อนันต์ พีระนันท์รังษี*
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ช่องปากหลังใส่ฟันเทียมพระราชทานต่อการดูแลสุขภาพช่องปาก ปัญหาสุขภาพช่องปาก และผลกระทบสุขภาพช่องปากของประชาชน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 140 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 70 คน กลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเวลา 8 สัปดาห์ กลุ่มควบคุมจะได้รับทันตสุขศึกษาในระบบปกติ รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและผลตรวจสุขภาพช่องปาก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Pearson chi-square test, McNemar's chi-square test, Wilcoxon signed-rank test และ Wilcoxon rank-sum test
ผลการศึกษา พบว่า หลังทดลองกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ปัญหาฟันเทียม ปัญหาการมีคราบจุลินทรีย์ การเกิดโรคเหงือกอักเสบ โรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ และโรคฟันผุ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) มีผลกระทบสุขภาพช่องปากลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากหลังใส่ฟันเทียมต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ดังนั้นคลินิกทันตกรรมในโรงพยาบาลควรนำโปรแกรมการดูแลสุขภาพช่องปากไปใช้เพื่อลดผลกระทบสุขภาพช่องปากหลังการใส่ฟันเทียม รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
คำสำคัญ: โปรแกรมการดูแลสุขภาพช่องปาก, ฟันเทียมพระราชทาน, ผลกระทบสุขภาพช่องปาก
Keywords: Oral Health Care Program, Royal dentures Insertion, Oral Health Impact Profile
* โรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 365 ครั้ง