ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ในเขตอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
จิระดา พรมนิมิตร*
บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ในเขตอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ กลุ่มตัวอย่าง คือ หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ในสถานบริการสาธารณสุข ในอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ที่มาฝากครรภ์ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 พฤษภาคม 2565 จำนวน 136 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ ไคสแควร์และสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 79.41 มีอายุอยู่ระหว่าง 15-30 ปี สถานภาพสมรส ร้อยละ 97.79 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 86.76 อาชีพ รับจ้าง ร้อยละ 30.14 จำนวนบุตร 1 คน ร้อยละ 72.05 กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.60 และ ร้อยละ 94.85 มีความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์อยู่ในระดับสูง พฤติกรรมการดูแลตนเองของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 81.62 มีพฤติกรรมการดูแลตนเองระดับสูง เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนปัจจัยนำ (ความรู้ ทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองของหญิงตั้งครรภ์) ปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
คำสำคัญ: หญิงตั้งครรภ์, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์
Keywords: pregnant women, self-care behaviors, factors related to self-care behaviors
* โรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 318 ครั้ง