การใช้สารเสพติดของเยาวชนไทย
นฤมล จันทร์มา*, รังสิยา วงศ์อุปปา**
บทคัดย่อ
การศึกษาสถานการณ์การแพร่ระบาดของการใช้สารเสพติดเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสัดส่วนของเยาวชนไทย (กลุ่มอายุ 10-18 ปี) ที่ใช้สารเสพติด ปี พ.ศ. 2565 เป็นการศึกษาเชิงบรรยายชนิดตัดขวางด้วยวิธีสำรวจทำการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิสุ่มกระจุกสามขั้นตอน ได้กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาทั้งสิ้น 4,666 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการแบบสอบถามชนิดตอบเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วย สถิติเชิงพรรณนาและไคว์สแควร์
เยาวชนไทยอายุ 10-18 ปี ร้อยละ 16.6 รายงานว่ามีประสบการณ์ “เคยใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง” ในจำนวนนี้เยาวชนร้อยละ 13.1 ยังคงใช้สารเสพติดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีความแตกต่างระหว่าเพศและกลุ่มอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สารเสพติดยอดนิยมที่เยาวชน เคยใช้ ได้แก่ กระท่อม (โดยเฉพาะน้ำต้มกระท่อม) สารกล่อมประสาท กัญชา (โดยเฉพาะกัญชาแห้ง) สารกระตุ้น (โดยเฉพาะยาบ้า) สารกดประสาท (โดยเฉพาะทรามาดอลและโคเดอีน) และสารหลอนประสาท ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการใช้สารเสพติดมากกว่า 1 ชนิด (สารผสม) ในคราวเดียวกัน รวมทั้งการใช้สารเสพติดร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดร่วมกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และยังพบการใช้สารเสพติดร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า อีกด้วย
คำสำคัญ: สารเสพติด; เยาวชน; พฤติกรรมใช้ยาเสพติด
KEYWORDS: Substances abuse; Youths; Drugs use behavior
* คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์
** คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 235 ครั้ง