วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน
ISSN 3027-8082 (Print)
ISSN 3027-8104 (Online)

วารสารการพัฒนาชุมชน

ปีที่ 12 ฉบับที่ 3
img
จุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: กรณีศึกษาในเขตเทศบาลคัดสรร จังหวัดสงขลา
สุรศักดิ์ สบเหมาะ*, ภัชชนก รัตนกรปรีดา*, วรพล หนูนุ่น*
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงสำรวจนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ สังคมสิ่งแวดล้อม และแบบแผนของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตเมือง ประชากรศึกษา คือ จุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เก็บข้อมูลเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลด้านกายภาพ และแบบสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิตินอนพาราเมตริกซ์ Kruskal Wallis Test ผลการวิจัยพบ จุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมด 170 ร้าน กระจายแบบเกาะกลุ่ม ความหนาแน่นต่อจำนวนประชากรในภาพรวม เท่ากับ 4.28 ต่อประชากร 1,000 คน ความหนาแน่นต่อพื้นที่ เท่ากับ 4.83 แห่งต่อตารางกิโลเมตร เมื่อจำแนกรายชุมชนพบความหนาแน่นต่อประชากร 1,000 คน สูงสุดเท่ากับ 13.06 ความหนาแน่นตามขนาดพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์มากที่สุดเท่ากับ 27.65 แห่งต่อตารางกิโลเมตร เป็นความหนาแน่นระดับสูง ลักษณะโครงสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวใกล้เคียงกัน จำนวน 87 และ 71 แห่ง ร้อยละ 51.2 และ 41.8 เป็นร้านขายของชำ ร้อยละ 58.2 เบียร์และเหล้าเป็นเครื่องดื่มที่มีการจำหน่ายสูงสุดใกล้เคียงกันทุกชุมชน ร้านอาหาร สวนอาหารจำหน่ายหลากหลายชนิดมากที่สุด 9 ชนิด มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเบเกอรี่ ร้านนม/น้ำชา และช่วงเวลาเปิด-ปิด จำนวน 12.67±2.71 ชั่วโมงต่อวัน กลุ่มจุดจำหน่าย ฯ มีค่าเฉลี่ยของจำนวนชั่วโมงเปิด-ปิดร้านแตกต่างกันที่ระดับนัยสําคัญทางสถิติ 0.05 การวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีโอกาสเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงควรมีมาตรการควบคุมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
คำสำคัญ: ความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์; ลักษณะทางกายภาพ; สังคมสิ่งแวดล้อม; แบบแผน
Keywords: Alcohol Outlet Density; Physical Characteristics; Social Environment; Pattern
* หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา


Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 23 ครั้ง


ติดต่อเรา





เว็บไซต์ที่น่าสนใจ




Flag Counter



2019