ความสัมพันธ์ของวิธีการใช้ยาพ่นชนิดสูดกับอาการหอบ
ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มารับบริการ
ที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
นภัทรแผ่ผล* สมพงษ์ ศรีแสนปาง** นันทวรรณ ทิพยเนตร***
บทคัดย่อ
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสุขภาพเนื่องจากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งมีการดำเนินโรคที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากเริ่มมีอาการควรเข้ารับการรักษาเพื่อ พ่นยาเนื่องจากการกำเริบในครั้งแรกเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ ที่มีผลต่อการรักษา คือ เทคนิคการพ่นยาชนิดสูดที่ไม่ถูกต้อง ในช่วงร้อยละ 4-94 การศึกษานี้เพื่อทราบความสัมพันธ์ของเทคนิคการใช้ยาพ่นชนิดสูดกับอาการหอบของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน และเพื่อทราบอัตราการใช้ยาพ่นชนิดสูดด้วยเทคนิคที่ไม่ถูกต้อง โดยทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง ซึ่งคัดเลือกผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยด้วยรหัส ICD 10: J441, J449 ที่มีอาการหอบและมาพ่นยาอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 เพื่อทำการสัมภาษณ์และประเมินเทคนิคการพ่นยา inhaler ตามแบบประเมินการทดสอบ (แอลฟา =0.715)
ผลการศึกษา มีผู้ร่วมวิจัยทั้งสิ้น 39 คน เป็นชาย 29 คน หญิง 10 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 71 ปี มีเพียงร้อยละ 7.69 ที่มีเทคนิคการพ่นยาที่ถูกต้อง สาเหตุของความผิดพลาดในเทคนิคการพ่นยาที่พบมากที่สุด คือการหายใจออกให้สุดแต่ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการหอบอย่างไรก็ตามปัญหาในการที่มีเทคนิคการพ่นยาที่ผิดพลาดมากกว่าร้อยละ 90 นี้ ควรต้องได้รับการแก้ไขโดยทีมสุขภาพซึ่งต้องมีการประเมินเทคนิคการใช้ยาพ่นร่วมกับการฝึกการหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาตามขนาดที่เหมาะสม
คำสำคัญ :โรคถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง เทคนิค, การพ่นยา
Key words : Chronic obstructive pulmonary disease (COPD), Inhaler technique
* โรงพยาบาลนาทวี จังหวัดสงขลา
** ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
*** ภาควิชาเวชกิจฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 1214 ครั้ง