การศึกษารูปแบบการใช้กัญชาของผู้ป่วย
ในโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
สุกัญญา กาญจนบัตร* , สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล**
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินพฤติกรรมการใช้กัญชาในบริบทของคนไทยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Descriptive study) ในผู้ให้ข้อมูลหลักคือผู้ใช้กัญชาโดยตรงด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล (Individual in-depth interview) ผู้ใช้กัญชาที่มาบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปไม่จำกัดเพศจำนวน 22 คน โดยใช้แนวคำถามแบบมีโครงสร้างที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับกัญชา
ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ใช้กัญชาชนิดแห้งด้วยวิธีการสูบรูปแบบและบริบทของผู้เสพกัญชาที่เป็นผู้ใช้ประจำมีความรุนแรงระดับปานกลางไปจนถึงระดับมาก โดยพบว่าอายุที่เริ่มใช้กัญชาน้อยที่สุดเป็นส่วนใหญ่คือระหว่าง 10-15 ปีจำนวน 12 ราย (ร้อยละ54.6) ขนาด/ปริมาณกัญชาที่พบว่าใช้มากที่สุดคือ 10 หวีด/ครั้ง จำนวน 8 ราย (ร้อยละ 36.5) และความถี่มากที่สุดคือ 3 ครั้ง/วัน จำนวน 8 ราย (ร้อยละ 36.5) ในบริบทครอบครัวผู้ใช้กัญชา พบว่า ผู้ใช้กัญชาเพศหญิงมีเพศสภาพเป็นเด็กชายขอบ (marginalgroup) หรือด้อยโอกาส อยู่อาศัยเพียงลำพังขาดที่พึ่งไม่มีผู้ปกครองคอยชี้แนะจึงคบเพื่อนและถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เป็นกลุ่มที่ครอบครัวแตกแยก บิดามารดาแยกทางกัน ส่วนปัจจัยที่นำไปสู่การใช้กัญชานั้น ได้แก่ กลุ่มเพื่อน (peer pressure) พ่อแม่/ญาติ คนในครอบครัวที่ใช้กัญชา ความรู้ ทัศนคติ และอารมณ์ด้านผลกระทบของการใช้กัญชา มีทั้งกลุ่มผู้ใช้ที่ยอมรับว่าการใช้กัญชาของตนเองมีผลกระทบต่อชุมชน แต่มีผู้ใช้กัญชาร้อยละ 50 ที่ไม่คิดว่าการใช้กัญชาจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นโดยคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและคิดว่ายาเสพติดชนิดอื่นมีอันตรายและผลกระทบมากกว่า ทั้งนี้ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย
คำสำคัญ : รูปแบบการใช้กัญชา, คนไทย
Key words : the use of cannabis, Thai
* โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
** ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 1687 ครั้ง