รูปแบบการดำเนินงานจังหวัดปลอดเหล้า
กิตติยา จุลวัฒฑะกะ*
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การดื่มสุรา ปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มสุราของประชาชนในจังหวัดสกลนคร และพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดปลอดเหล้า ทำการศึกษาในกลุ่มประชากรจังหวัดสกลนคร จำนวน 2,120 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถาม สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกต และการถอดบทเรียนความสำเร็จในการเลิกเหล้าของบุคคลต้นแบบ แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะศึกษาสถานการณ์ ระยะปฏิบัติการ และระยะประเมินผล ดำเนินการศึกษาในระหว่างปี 2556 – 2557 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยสถิติไคสแคว์ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่อการดื่มสุราด้วยสถิติ Odd Ratio, 95% CI,Logistic Regression สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยในระยะแรก พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากเป็นเพศชาย ร้อยละ 56.80 อายุเฉลี่ย 48 ปี ส่วนมากมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 52.30อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 74.80รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,724.26 บาท เป็นผู้ที่เคยดื่มสุราร้อยละ 76.54 ทุกหมู่บ้านมีคนดื่มสุราและมีความชุกในการดื่มสูงมากในช่วงเทศกาล งานประเพณี โดยปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มสุราคือ อาชีพ รายได้ ปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อเข้าถึงสุราได้ง่าย การดื่มของบุคคลในครอบครัว (ORadj=6.65, 95%CI [ 1.27,4.28], p = 0.004; ORadj=3.14, 95%CI [ 2.22,4.38], p = 0.004; ORadj=2.58, 95%CI [ 1.27,5.42], p = 0.004; ORadj=4.81, 95%CI [ 2.72,7.42], p = 0.004) ตามลำดับ กระบวนการขับเคลื่อนจังหวัดปลอดเหล้าที่สำคัญ มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์พื้นที่ปลอดเหล้าและปลอดการพนันร้อยละ 100.00 ในทุกอำเภอ สามรถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสุราได้ 28,105.00 บาท ต่องาน นอกจากนั้นยังมีบุคคลต้นแบบที่สามารถเลิกเหล้าได้ 400 คน เกิดการขยายผลไปสู่บุญประเพณีปลอดเหล้า
คำสำคัญ : สุรา, ปัจจัยเสี่ยง, รูปแบบ, จังหวัดปลอดเหล้า, สกลนคร
Key word : Alcohol, Risks factors, Alcohol-Free, ProvinceModel, Sakon Nakhon
* สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 1283 ครั้ง