บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงประเมินผล เพื่อประเมินประสิทธิผลค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติดชุมชนบ้านลาด ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยใช้แนวคิดการประเมินผลแบบ CIPP Model กลุ่มผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย ผู้นำชุมชน กรรมการหมู่บ้าน บุคคลในครอบครัวของผู้ผ่านการบำบัดผู้ผ่านการบำบัดและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 49 คน เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการใช้แบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ผ่านการบำบัดเป็นเพศชายทั้งหมด ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 16-20 ปี (ร้อยละ 31.80)มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 5,000-9,000 บาท (ร้อยละ 59.10) อายุต่ำสุดที่เริ่มเสพยาเสพติดครั้งแรก คืออายุ 12 ปี ยาเสพติดที่เสพมากสุดคือ ยาบ้า (ร้อยละ 95.50) สาเหตุที่เสพคืออยากลอง (ร้อยละ 63.60) เพื่อนชวน (ร้อยละ 27.30) เหตุผลของการเข้ารับการบำบัดคืออยากเลิก (ร้อยละ 81.80) และประชาคมหมู่บ้านกดดัน (ร้อยละ 18.20) ส่วนการประเมินผลโครงการ ด้านบริบทโครงการ พบว่ามีเป้าหมายการดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยชุมชนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การคัดกรอง กระบวนการบำบัด การเตรียมเข้าสู่ชุมชนและการติดตามผลหลังการบำบัด ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า บุคลากรมีการบูรณการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ด้านอุปกรณ์ สื่อ และสถานที่มีความพร้อมและใช้งานได้ดี แต่งบประมาณยังไม่เพียงพอจึงต้องมีการระดมทุนภายในชุมชน ด้านกระบวนการดำเนินงาน พบว่า มีแผนการจัดกิจกรรมในแต่ละวันที่ชัดเจนมีการปรับหลักสูตรของค่ายให้เหมาะสมกับบริบททางสังคม การดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพของผู้เข้ารับการบำบัด ด้านผลลัพธ์ พบว่า ผู้ผ่านการบำบัดเข้าร่วมกิจกรรมจนครบตามหลักสูตรทุกคน และการติดตามผลครั้งแรก จากผู้เข้าบำบัด 32 คน สามารถติดตามได้ 24 คน ตรวจปัสสาวะไม่พบสารเสพติด 22 คน (ร้อยละ68.75) เสพซ้ำ 2 คน (ร้อยละ 6.25 ) ผลกระทบของโครงการพบว่า ผู้ผ่านการบำบัดได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น รู้จักช่วยทำงาน สภาพอารมณ์ดีขึ้น และประชาชนให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 4305 ครั้ง