ผลของการเสริมพลังจิตสำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ในชุมชนระดับโรงพยาบาลชุมชน
ถิรพุทธิ เฉลิมเกียรติสกุล*, ประเสริฐ ประสมรักษ์**
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและผลของการเสริมพลังจิตสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ระดับโรงพยาบาลชุมชน พื้นที่อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ศึกษาในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากระบบรายงานทางระบาดวิทยาระหว่างเดือน ธ.ค. 2563 - มิ.ย. 2564 เก็บข้อมูลด้วยแบบประเมินสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต ได้แก่ ST-5, 2Q, 8Q, 9Q, Burnout และ RQ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ Paired Sample T-test
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ได้รับผลกระทบ 1,045 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงสูง ร้อยละ 91.29 ในกลุ่มที่สถานการณ์แพร่ระบาดมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต มีสาเหตุจากรู้สึกว่าตนเองทำให้ครอบครัว สังคมเดือดร้อน ถูกตำหนินินทาจากคนในชุมชน การเสพข่าวจากสื่อต่าง ๆ ดังนั้น รูปแบบการเสริมพลังจิต ประกอบด้วย ทีม EOC ร่วมกับงานสุขภาพจิตของโรงพยาบาลชุมชนประเมินปัญหาสุขภาพจิตทันที และร่วมกับทีม รพ.สต. และ อสม. เยี่ยมบ้านผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อ 1) หาสาเหตุหลัก-ร่วม 2) สร้างความเข้าใจ ยอมรับปัญหา เห็นพลังในการแก้ไข 3) เสริมพลังจิตในการจัดการสาเหตุด้วยตนเอง 4) รักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องเมื่อจำเป็น 5) เยี่ยมเสริมพลังจิตต่อเนื่องที่บ้านประสานจากชุมชนถึงจิตแพทย์ และ 6) ประเมินซ้ำเพื่อดูแลหรือส่งต่อ เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง พบว่า พลังจิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนปัญหาสุขภาพจิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งความเครียด ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ภาวะหมดไฟ
คำสำคัญ: สุขภาพจิต, การเสริมพลังจิต, โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
Keywords: Mental Health, Mental Empowerment, COVID-19
*โรงพยาบาลหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
**มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
Download PDF Now
ดาวน์โหลดแล้ว 326 ครั้ง